
ศาลแพ่ง

คำถามเกี่ยวกับการเลื่อนนัด
ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ศาลแพ่งมีประกาศเลื่อนคดีออกไปโดยที่คู่ความหรือทนายความไม่จำเป็นต้องยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีอีก อย่างไรก็ตาม คู่ความและทนายความจำเป็นต้องอ่านประกาศโดยละเอียดตามที่ปรากฏบนหน้าเว็บไซต์ของศาลแพ่ง เพราะมีคดีบางประเภทที่ยังคงกำหนดนัดไว้ตามเดิมโดยไม่เลื่อนออกไป เช่น คดีนัดฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา คดีนัดฟังความเห็นเกี่ยวกับเขตอำนาจศาล รวมถึงคดีที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้พิจารณาคดีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ด้วย
คู่ความสามารถติดตามประกาศศาลแพ่ง เรื่อง การบริหารจัดการคดีภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease : COVID-19) ได้ตามที่ปรากฏบนเว็บไซต์ของศาลแพ่ง และยังคงดำเนินการส่งหมายแจ้งคำสั่งเลื่อนคดีและกำหนดนัดพิจารณาคดีใหม่ให้คู่ความทราบเป็นหมายศาลตามปกติอีกทางหนึ่งด้วย
หากคดีดังกล่าวต้องเลื่อนออกไปโดยประกาศของศาลแพ่ง คดีนั้นย่อมไม่มีการพิจารณาสืบพยานตามที่กำหนดนัดไว้แต่อย่างใด พยานจึงไม่จำเป็นต้องเดินทางมาศาล นอกจากนี้ ศาลแพ่งจะให้เจ้าหน้าที่โทรติดต่อประสานกับพยานเพื่อแจ้งคำสั่งเลื่อนคดีของศาลอีกทางหนึ่งด้วย
คดีนัดสืบพยานต่อเนื่องที่เลื่อนคดีออกไปตามประกาศศาลแพ่งฯ จะไม่มีการสืบพยานในกำหนดนัดเดิม ดังนั้น จะมีหมายแจ้งการเลื่อนคดีและกำหนดวันนัดใหม่ให้พยานทราบ
หากคดีของท่านเป็นคดีที่อยู่ในข่ายถูกเลื่อนคดีตามประกาศของศาลแพ่ง กำหนดวันนัดพิจารณาใหม่จะปรากฏอยู่ในประกาศศาลแพ่งแต่ละฉบับ คู่ความสามารถตรวจสอบประกาศศาลแพ่งและรายละเอียดเกี่ยวกับวันนัดพิจารณาใหม่ได้ที่เว็บไซต์ศาลแพ่ง
หากเป็นคดีจัดการพิเศษ เช่น คดีร้องขอจัดการมรดก คดีผู้บริโภคนัดแรก คดีไม่มีข้อยุ่งยากนัดแรก คดีนัดชี้สองสถาน คดีร้องขอสวมสิทธิแทนเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา คดีร้องขอรับชำระหนี้จำนอง คดีร้องขัดทรัพย์ คดีร้องขอกันส่วน ฯลฯ การเลื่อนนัดพิจารณาคดี จะเป็นการเลื่อนนัดไปเพื่อดำเนินการตามนัดเดิม “ไม่ใช่เลื่อนไปเพื่อกำหนดวันนัดใหม่” เช่น ในคดีผู้บริโภคนัดแรกเป็น นัดไกล่เกลี่ย ให้การ และสืบพยานโจทก์ ในวันที่ 18 มิถุนายน 2564 หากคดีเลื่อนออกไปโดยผลของประกาศศาลแพ่งฯ นัดต่อไปก็จะเป็น นัดไกล่เกลี่ย ให้การ และสืบพยานโจทก์ ในวันที่ 23 สิงหาคม 2564 เป็นต้น ดังนั้น คู่ความและทนายความจำเป็นต้องเตรียมพร้อมพยานเอกสารที่อาจต้องใช้สืบพยานฝ่ายเดียวในวันที่เลื่อนไปดังกล่าวด้วย เพราะหากคู่ความอีกฝ่ายขาดนัดยื่นคำให้การ ฝ่ายโจทก์อาจต้องสืบพยายฝ่ายเดียวในนัดต่อไปทันที
หากเป็นคดีสามัญหรือสามัญพิเศษ เช่น คดีนัดสืบพยานต่อเนื่อง การเลื่อนนัดสืบพยานจะเป็นการเลื่อนนัดไปเพื่อ “กำหนดวันนัดพิจารณาใหม่” ไม่ใช่การเลื่อนไปเพื่อสืบพยาน เพราะในกรณีนี้จำเป็นต้องได้วันนัดสืบพยานที่ตรงกันจากคู่ความทั้งสองฝ่าย เช่น ในคดีนัดสืบพยานต่อเนื่องคดีแพ่งสามัญ ซึ่งเดิมนัดไว้ในวันที่ 18 มิถุนายน 2564 หากคดีเลื่อนออกไปโดยผลของประกาศศาลแพ่งฯ นัดต่อไปก็จะเป็น “นัดพร้อมเพื่อกำหนดวันนัดพิจารณาใหม่” ในวันที่ 23 สิงหาคม 2564 ยังไม่ใช่นัดสืบพยานต่อเนื่องแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม หากคดีนัดสืบพยานต่อเนื่องนั้นเคยถูกเลื่อนมาเพื่อนัดพร้อมเพื่อพิจารณาใหม่ครั้งหนึ่งแล้ว และเมื่อถึงวันนัดพร้อมเพื่อพิจารณาใหม่ก็ยังคงไม่สามารถดำเนินกระบวนพิจารณาได้เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดยังไม่ทุเลาลงไป โดยศาลแพ่งมีประกาศให้เลื่อนคดีออกไปอีกครั้งหนึ่ง กรณีเช่นนี้ นัดต่อไปจะเป็น “นัดสืบพยานโจทก์และจำเลย” ในช่วงปลายปี 2564 ทันที โดยศาลแพ่งจะให้เจ้าหน้าที่โทรศัพท์ไปประสานวันว่างจากคู่ความและทนายความในคดีทั้งหมด และมีหมายแจ้งวันนัดสืบพยานโจทก์และจำเลยส่งไปให้คู่ความและทนายความทราบเป็นหมายศาลอีกครั้งหนึ่ง
คดีนัดฟังคำพิพากษาศาลแพ่ง นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ นัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา นัดฟังความเห็นเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล หรือนัดฟังความเห็นประธานศาลอุทธรณ์ฯ ยังคงกำหนดนัดฟังไว้ตามเดิม ไม่มีการเลื่อนนัดฟังฯ เนื่องจากเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ใช้ระยะเวลาสั้น และสามารถจัดให้มีการเว้นระยะห่างภายในห้องพิจารณาได้
คู่ความที่มีความจำเป็นต้องใช้สิทธิทางศาลในช่วงนี้สามารถยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ หรือหากมีเจ้าหน้าที่ศาลแพ่งโทรติดต่อสอบถามความประสงค์ว่าต้องการดำเนินกระบวนพิจารณาผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์หรือไม่ ก็อาจแจ้งความประสงค์ต่อเจ้าหน้าที่ศาลแพ่งได้ โดยในการยื่นคำร้องต้องบรรยายให้ศาลเห็นในทำนองว่า “คู่ความมีความสะดวกและมีความสามารถในการเข้าถึงเทคโนโลยีได้” และ/หรือ “การพิจารณาคดีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์จะไม่ทำให้คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องเสียเปรียบในการต่อสู้คดี” จากนั้น ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนจะพิจารณาและมีคำสั่งว่าจะอนุญาตให้พิจารณาคดีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์หรือไม่
ไม่ได้เลื่อนการพิจารณาทุกคดี หากคดีใดคู่ความยื่นคำร้องขอหรือเจ้าหน้าที่ทำรายงานว่าคู่ความมีความประสงค์พิจารณาคดีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และศาลมีคำสั่งอนุญาต คดีนั้นจะไม่เลื่อนการพิจารณาคดีออกไป แต่จะดำเนินกระบวนพิจารณาตามกำหนดนัดเดิมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (ไม่เปลี่ยนวันนัด แต่เปลี่ยนวิธีพิจารณาคดี) นอกจากนี้ คดีนัดฟังคำพิพากษาหรือความเห็นต่าง ๆ ก็ยังคงกำหนดนัดไว้ตามเดิมเช่นเดียวกัน
หากคดีเลื่อนออกไปตามประกาศศาลแพ่ง ในการส่งหมายนัดพิจารณาคดีครั้งใหม่จะเป็นการส่งโดยหมายศาล คู่ความไม่จำเป็นต้องวางเงินค่านำส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องอีกครั้งหนึ่ง
ในการส่งหมายและคำคู่ความให้แก่ผู้รับหมายที่มีภูมิลำเนาหรือที่พักอาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ที่ปรากฏตามข้อเท็จจริงหรือสถานการณ์ที่อาจมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และศาลที่มีเขตอำนาจในพื้นที่นั้นประกาศให้ส่งทางไปรษณีย์ ก็ให้ดำเนินการส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับก่อน ทั้งนี้ หากคู่ความที่วางเงินค่านำส่งคำคู่ความสำหรับการส่งหมายโดยเจ้าพนักงานเดินหมายไว้แล้ว ศาลแพ่งจะนำเงินที่วางไว้สำหรับส่งคำคู่ความโดยเจ้าพนักงานเดินหมายมาตัดจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งหมายทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับก่อน กรณีที่สามารถส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับได้ เงินที่เหลือให้ผู้วางเงินยื่นคำร้องขอรับเงินคืนจากศาลแพ่งได้ หากกรณีที่ส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไม่ได้ ศาลแพ่งจะนำส่งคำคู่ความด้วยวิธีการอื่นตามคำสั่งศาลต่อไป
ศาลแพ่งจะมีหมายแจ้งคำสั่งเลื่อนคดีและหมายนัดพิจารณาคดีใหม่ส่งไปให้คู่ความและทนายความที่เกี่ยวข้องในคดีนั้นทุกคนเสมอ
ในกรณีที่ยังไม่มีการส่งหมายแจ้งคำสั่งเลื่อนคดีและนัดพิจารณาคดีใหม่ไปให้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง หากคู่ความหรือทนายความเห็นว่าตนไม่สะดวกเดินทางมาศาลในวันนัดพิจารณาใหม่ตามประกาศของศาลแพ่ง คู่ความหรือทนายความอาจยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีต่อศาลได้ ในกรณีนี้ เจ้าหน้าที่ศาลจะติดต่อสอบถามความสะดวกของคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งด้วย และออกหมายแจ้งวันนัดพิจารณาคดีใหม่ในวันที่คู่ความทั้งสองฝ่ายสามารถเดินทางมาศาลได้
ในกรณีที่มีการส่งหมายแจ้งคำสั่งเลื่อนคดีและนัดพิจารณาคดีใหม่ไปให้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งแล้ว หากในวันนัดพิจารณาใหม่คู่ความหรือทนายความไม่สะดวกเดินทางมาศาล อาจมอบฉันทะให้เสมียนทนายความเดินทางมาศาลเพื่อขอเลื่อนนัดพิจารณาคดีอีกครั้งหนึ่งได้
คณะผู้บริหารศาลแพ่งติดตามและประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างใกล้ชิดตลอดเวลา การตัดสินใจเลื่อนคดีจะต้องสอดคล้องกับแนวทางการบริหารจัดการคดีของสำนักงานศาลยุติธรรมและคำแนะนำจากหน่วยงานทางสาธารณสุขประกอบด้วย
ในกรณีที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการเลื่อนคดีของศาลแพ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) คู่ความ ทนายความ หรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ส่วนงานประชาสัมพันธ์ของศาลแพ่ง โทร. 02-541-2423-9 ต่อ 1220, 1221, 1600 หรือ 1700 หรือศูนย์ประสานงานดำเนินกระบวนพิจารณาคดีทางอิเล็กทรอนิกส์ประจำศาลแพ่งที่เบอร์โทรศัพท์ 02-541-2387, 02512-8058 หรือ 085-661-0109 หรือศูนย์ประสานงานดำเนินกระบวนพิจารณาคดีทางอิเล็กทรอนิกส์ประจำศาลแพ่ง (คดีจัดการมรดก) ที่เบอร์โทรศัพท์ 02-512-8228
คำถามเกี่ยวกับการขอพิจารณาคดีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์
ในกรณีที่ยื่นฟ้องคดีไว้แล้ว คู่ความหรือทนายความที่ประสงค์ดำเนินกระบวนพิจารณาผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์สามารถยื่นคำร้องขอดำเนินกระบวนพิจารณาผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ โดยต้องระบุเหตุผลความจำเป็น ประกอบกับยืนยันว่าตนมีความสะดวกและมีความสามารถในการใช้และเข้าถึงเทคโนโลยีได้ อีกทั้งการพิจารณาคดีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์จะไม่ทำให้คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องเสียเปรียบหรือเสียสิทธิในการต่อสู้คดี จากนั้นศาลจะพิจารณาสั่งว่าอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้พิจารณาคดีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่อไป อย่างไรก็ตาม ในช่วงเริ่มต้นของการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ในการพิจารณาคดี ศาลแพ่งมีนโยบายให้เจ้าหน้าที่ศาลประสานทางโทรศัพท์เพื่อสอบถามความประสงค์ของคู่ความหรือทนายความว่าต้องการดำเนินกระบวนพิจารณาผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์หรือไม่ควบคู่ไปด้วย เพื่อสนับสนุนให้คู่ความที่มีความจำเป็นต้องใช้สิทธิทางศาลสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
ในกรณีที่ยังไม่ได้ยื่นฟ้องคดี คู่ความหรือทนายความที่ประสงค์ดำเนินกระบวนพิจารณาในวันนัดครั้งแรกผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์จะต้องยื่นคำร้องขอดำเนินกระบวนพิจารณาผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยต้องระบุเหตุผลความจำเป็น ประกอบกับยืนยันว่าตนมีความสะดวกและมีความสามารถในการใช้และเข้าถึงเทคโนโลยีได้ อีกทั้งการพิจารณาคดีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์จะไม่ทำให้คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องเสียเปรียบหรือเสียสิทธิในการต่อสู้คดี จากนั้นศาลจะพิจารณาสั่งว่าอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้พิจารณาคดีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่อไป นอกจากนี้ ในกรณีที่ยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์พร้อมกับคำฟ้องเช่นนี้ ในหมายเรียกของศาลแพ่งที่ส่งไปถึงจำเลยจะระบุโดยชัดแจ้งว่าโจทก์จะปรากฏตัวในวันนัดพิจารณาครั้งแรกผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยเมื่อจำเลยทราบแล้ว จำเลยย่อมมีสิทธิเลือกว่าจะเดินทางมาร่วมการพิจารณาคดีที่ศาลแพ่ง หรือจะมาปรากฏตัวในวันนัดพิจารณาครั้งแรกผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เช่นเดียวกับโจทก์ก็ได้
คดีที่ได้รับอนุญาตให้พิจารณาผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์จะพิจารณาในกำหนดวันนัดเดิม โดยไม่เลื่อนออกไปตามประกาศศาลแพ่ง
คดีที่อยู่ในเขตอำนาจพิจารณาคดีของศาลแพ่งทุกคดี ไม่ว่าจะเป็นนัดใด สามารถดำเนินกระบวนพิจารณาผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ หากปรากฏข้อเท็จจริงว่าคู่ความมีความสะดวกและสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ และการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ในการดำเนินกระบวนพิจารณาจะไม่ทำให้คู่ความเสียเปรียบหรือเสียสิทธิในการต่อสู้คดี
ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการพิจารณาคดีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพียงแต่คู่ความหรือทนายความจะต้องมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และดาวน์โหลดแอปพลิเคชันที่ต้องใช้ในการพิจารณาคดีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้พร้อมก่อนวันนัดพิจารณาคดีเท่านั้น โดยคู่ความหรือทนายความสามารถตรวจสอบอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ในการพิจารณาคดีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ใน “คำแนะนำ เรื่อง การเตรียมความพร้อมและการปฏิบัติตนของผู้ที่เกี่ยวข้องในการเข้าร่วมกระบวนพิจารณาคดีโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์ของศาลแพ่ง”
ในการพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้พิจารณาคดีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ศาลจะต้องพิจารณาโดยคำนึงถึงความสะดวกและประหยัดสำหรับคู่ความยังไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ ตามข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563 ข้อ 4 และการพิจารณาคดีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์นั้นจะต้องไม่ทำให้สิทธิในการต่อสู้คดีของคู่ความลดน้อยถอยลงอีกด้วย ตามข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563 ข้อ 13 หากเข้าเงื่อนไขดังที่กล่าวมา ศาลย่อมอนุญาตให้พิจารณาคดีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้
การเตรียมพร้อมในการพิจารณาคดีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้เป็นไปตามที่ปรากฏใน “คำแนะนำ เรื่อง การเตรียมความพร้อมและการปฏิบัติตนของผู้ที่เกี่ยวข้องในการเข้าร่วมกระบวนพิจารณาคดีโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์ของศาลแพ่ง”
สำหรับคดีร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกที่ไม่มีผู้คัดค้าน หรือคดีจัดการพิเศษที่จำเลยหรือผู้มีส่วนได้เสียไม่ยื่นคำให้การหรือคำคัดค้าน แอปพลิเคชันที่สามารถใช้ในการพิจารณาคดีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ ได้แก่ Zoom, Line Meeting, Google Meet และ Cisco Webex
สำหรับวันนัดสืบพยานที่คู่ความต้องสืบพยานต่อสู้กัน รวมถึง คดีตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ. 2559 แอปพลิเคชั่นที่สามารถใช้ในการพิจารณาคดีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ Google Meet และ Cisco Webex
คู่ความไม่จำเป็นต้องเดินทางไปสำนักงานทนายความเพื่อเข้าสู่การพิจารณาคดีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ คู่ความสามารถอยู่บ้านและเข้าสู่การพิจารณาคดีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ทันที อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่คู่ความเดินทางไปยังสำนักงานทนายความเพื่อพิจารณาคดีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยหลักแล้วทนายความและคู่ความต้องเข้าร่วมพิจารณาโดยนั่งอยู่คนละห้องกัน และออนไลน์ผ่านระบบโดยแยกหน้าจอกัน เว้นแต่ในกรณีที่จำเป็นต้องอยู่ในห้องเดียวกันและจำเป็นต้องออนไลน์ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์โดยใช้หน้าจอร่วมกัน ก็ให้ขออนุญาตศาลเสียก่อน
ในคดีที่โจทก์ประสงค์ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ในการดำเนินกระบวนพิจารณา หากจำเลยหรือผู้มีส่วนได้เสียต้องการใช้สิทธิยื่นคำให้การหรือยื่นคำคัดค้านในวันนัดดังกล่าว จำเลยยังคงสามารถเดินทางมาใช้สิทธิทางศาลได้ที่ศาลแพ่งตามวันนัดที่กำหนดไว้ในหมายเรียกตามปกติ การพิจารณาคดีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์จะไม่ตัดสิทธิจำเลยในการเดินทางมาใช้สิทธิทางศาลตามปกติ
การพิจารณาคดีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์จะไม่เป็นการตัดสิทธิจำเลยหรือผู้มีส่วนได้เสียที่จะเดินทางมาที่ศาลเพื่อยื่นคำให้การหรือยื่นคำคัดค้านตามปกติ ดังนั้น จำเลยยังสามารถเดินทางมาพิจารณาคดีที่ศาลได้ แต่หากจำเลยประสงค์จะปรากฏตัวผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เช่นเดียวกับโจทก์ จำเลยสามารถติดต่อสอบถามช่องทางในการเข้าร่วมพิจารณาคดีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ที่ส่วนงานประชาสัมพันธ์ของศาลแพ่ง โทร. 02-541-2423-9 ต่อ 1220, 1221, 1600 หรือ 1700
การเตรียมพร้อมในการพิจารณาคดีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้เป็นไปตามที่ปรากฏใน “คำแนะนำ เรื่อง การเตรียมความพร้อมและการปฏิบัติตนของผู้ที่เกี่ยวข้องในการเข้าร่วมกระบวนพิจารณาคดีโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์ของศาลแพ่ง”
การพิจารณาคดีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ช่วยให้คู่ความที่จำเป็นต้องใช้สิทธิทางศาลในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สามารถใช้สิทธิทางศาลได้โดยไม่ต้องเดินทางมาศาล ทำให้การจัดทำบริการสาธารณะของศาลมีความต่อเนื่อง ไม่หยุดชะงักจนเกิดภาวะคดีคั่งค้างมากจนเกินไป
ในกรณีที่คู่ความปรากฏตัวผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ไม่สามารถลงลายมือชื่อในรายงานกระบวนพิจารณาและคำเบิกความได้ สำนักงานศาลยุติธรรมให้แนวทางไว้ว่า กรณีดังกล่าวถือเป็นกรณีที่คู่ความไม่สามารถลงลายมือชื่อได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 50 (2) โดยศาลจะจดแจ้งเหตุที่ไม่สามารถลงลายมือชื่อได้ไว้โดยละเอียดในรายงานกระบวนพิจารณา
ในกรณีที่คู่ความสามารถไกล่เกลี่ยข้อพิพาทกันได้ แต่ต่างฝ่ายต่างปรากฏตัวผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ไม่สามารถลงชื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความดังเช่นกรณีปกติทั่วไปได้ กรณีเช่นนี้ สำนักงานศาลยุติธรรมได้ออกหนังสือเรื่อง “ข้อพิจารณาในการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ในสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่ง” กำหนดวิธีการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์เอาไว้ ดังรายละเอียดที่ปรากฏ ในลิ้งก์ต่อไปนี้ https://jla.coj.go.th/th/content/category/detail/id/1602/iid/247837
อนึ่ง มีข้อพิจารณาว่า การลงลายมือชื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความกรณีพิจารณาคดีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ไม่สามารถใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 50 (2) โดยถือว่าเป็นกรณีที่คู่ความไม่สามารถลงลายมือชื่อ ดังเช่น รายงานกระบวนพิจารณา หรือ คำเบิกความ ได้ จำเป็นต้องใช้วิธีการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อแสดงเจตนาในการทำนิติกรรมของคู่ความเสมอ
คู่ความหรือทนายความที่ประสงค์พิจารณาคดีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนหรือเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ เพียงแต่ยื่นคำร้องขอดำเนินกระบวนพิจารณาผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือในกรณีที่มีเจ้าหน้าที่โทรมาสอบถามความประสงค์ก็ให้แจ้งความประสงค์แก่เจ้าหน้าที่ และแจ้งช่องทางการส่ง Link เพื่อเข้าห้องพิจารณาคดีอิเล็กทรอนิกส์แก่เจ้าหน้าที่เท่านั้น เมื่อถึงวันนัดก็สามารถรับ Link เพื่อเชื่อมต่อเข้าห้องพิจารณาคดีอิเล็กทรอนิกส์ได้ทันที